วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

3.1 อุปกรณ์ไฟฟ้า



          เรื่องที่ 1 อุปกรณ์ไฟฟ้า
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในวงจรไฟฟ้ามีหลายชนิด แต่ละชนิดมีหน้าที่และความสำคัญ
ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
         1. สายไฟ (Cable)
สายไฟเป็นอุปกรณ์สำหรับส่งกระแสไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยกระแสไฟฟ้า
จะผ่านไปตามสายไฟจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟทำด้วยสารที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้า (ยอมให้
กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ดี) เช่น ทองแดง เป็นต้น โดยจะถูกหุ้มด้วยฉนวนไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย
ของผู้ใช้ไฟฟ้า สายไฟที่ใช้ตามบ้านเรือนแสดงดังตาราง



              2. ฟิวส์ (Fuse)
ฟิวส์เป็นอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลเกินจนเกิดอันตรายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้ามี
กระแสไฟฟ้าไหลเกิน ฟิวส์จะหลอมละลายจนขาด ทำให้ตัดวงจรไฟฟ้าในครัวเรือนโดยอัตโนมัติ
ฟิวส์ทำด้วยโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับดีบุก มีจุดหลอมเหลวต่ำและมีรูปร่างแตกต่างกันไป
ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แสดงดังตาราง




             3. อุปกรณ์ตัดตอน หรือ เบรกเกอร์ (Breaker)
เบรกเกอร์ คือ อุปกรณ์ตัดต่อวงจรโดยอัตโนมัติ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลเกินค่า
ที่กำหนด ปุ่มหรือคันโยกที่เบรกเกอร์จะดีดมาอยู่ในตำแหน่งตัดวงจรอย่างอัตโนมัติ โดยอาศัย
หลักการทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้า เบรกเกอร์มีจำหน่ายตามท้องตลาดหลายแบบ และหลายขนาด
ดังภาพ



                                                         ภาพเบรกเกอร์แบบต่าง ๆ


             4. สวิตช์ (Switch)
สวิตช์ เป็นอุปกรณ์ปิดหรือเปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ
เครื่องใช้ไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย สวิตช์ทางเดียว และสวิตช์สองทาง


          5. สะพานไฟ (Cut-out)
สะพานไฟ หรือ คัทเอาท์ เป็นอุปกรณ์สำหรับตัดต่อวงจรไฟฟ้าทั้งหมดภายใน
ครัวเรือน ประกอบด้วยฐานและคันโยกที่มีลักษณะเป็นขาโลหะ 2 ขา มีที่จับเป็นฉนวน เมื่อสับ
คันโยกขึ้น กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่วงจรไฟฟ้าในครัวเรือน และเมื่อสับคันโยกลงกระแสไฟฟ้า
จะหยุดไหล ซึ่งเป็นการตัดวงจร



                 6. เครื่องตัดไฟรั่ว (Earth Leak Circuit Breaker : ELCB)
เครื่องตัดไฟรั่ว เป็นอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง ที่สามารถตัดวงจรไฟฟ้า
กรณีเกิดไฟรั่ว โดยกำหนดความไวของการตัดวงจรไฟฟ้าตามปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วลงดิน
เพื่อให้มีการตัดไฟรั่วก่อนที่จะเป็นอันตรายกับระบบไฟฟ้า

                7. เต้ารับ (Socket) และเต้าเสียบ (Plug)
เต้ารับและเต้าเสียบ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่
อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
     1) เต้ารับหรือปลั๊กตัวเมีย คือ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น
เต้ารับที่ติดตั้งบนผนังบ้านหรืออาคาร เป็นต้น เพื่อรองรับการต่อกับเต้าเสียบของเครื่องใช้ไฟฟ้า
     2) เต้าเสียบหรือปลั๊กตัวผู้ คือ อุปกรณ์ส่วนที่ติดอยู่กับปลายสายไฟของ
เครื่องใช้ไฟฟ้า เต้าเสียบที่ใช้กันอยู่มี 2 แบบ คือ
           (1) เต้าเสียบ 2 ขา ใช้กับเต้ารับที่มี 2 ช่อง
           (2) เต้าเสียบ 3 ขา ใช้กับเต้ารับที่มี 3 ช่อง โดยขากลางจะต่อกับสายดิน




สายดิน


              สายดินหรือสายกราวด์เป็นสายเส้นที่สามในสายไฟฟ้า โดยสายดินนี้จะมีสีเขียวหรือสีเขียวสลับเหลือง เหมือนกันทั่วโลก เรียกว่าเป็นสากลเลยทีเดียว สายเส้นนี้ดูเผินๆ เหมือนไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงแล้วเป็นสายที่มีความสำคัญกับชีวิตเรามาก ในสายไฟเส้นหนึ่งบางทีก็มีสายเล็กๆ อยู่ภายในสองสาย บ้างก็สามสาย ซึ่งแต่ละสายก็มีชื่อเรียกและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
เส้นแรกเราเรียกว่าสายไฟหรือสายไลน์ (LINE) ซึ่งสายเส้นนี้จะทำหน้าที่นำกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน สายไฟหรือสายไลน์นี้ (มักจะเป็นสายสีดำหรือไม่ก็แดง แต่ถ้าระบบไฟของบ้านคุณมีขนาดใหญ่มาก อาจมีสีเหลืองหรือน้ำเงินด้วยก็เป็นได้) และเป็นสายเดียวที่มีกระแสไฟไหลผ่านจริง
เส้นที่สองเป็นสายศูนย์หรือสายนิวตรอน (NEWTRON) ซึ่งมักนิยมใช้สีขาวเพียงสีเดียว สายเส้นนี้จะไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่านแต่อย่างใด เพียงทำหน้าที่ให้เกิดการครบวงจรเท่านั้น กล่าวคือ มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมาตามสายไฟ เข้าสู่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วออกไปที่สายศูนย์นั่นเอง เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลมาตามสายไฟแล้วไหลเข้าสายศูนย์โดยไม่ผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าเลย อย่างนี้เรียกว่าลัดวงจร หรือที่รู้จักกันในนาม ไฟชอร์ตนั่นเอง ผลที่ตามมาก็คือ เกิดเพลิงไหม้ครับ แบบนี้อันตรายมาก
ระบบไฟฟ้าที่มีสายไฟ 2 เส้น มักเป็นระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น พัดลม ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องปิ้งขนมปัง ไมโครเวฟ ปั๊มน้ำ ฯลฯ จะมีสายอีกหนึ่งสายที่เรียกว่า สายดินหรือสายกราวด์ ซึ่งสายที่ 3 นี้ จะมีสีเขียวสลับกับสีเหลือง ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น
สายดินนี้มีไว้เพื่อป้องกันเราให้พ้นอันตรายที่เกิดจากไฟชอร์ตหรือไฟรั่ว เพราะหากเกิดไฟชอร์ตหรือไฟรั่วขณะที่เราใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนั้นอยู่ กระแสไฟจะไหลเข้าสู่ส่วนที่เป็นโลหะ ซึ่งถ้าเราสัมผัสโลหะนั้นอยู่ แถมที่บ้านก็ไม่ได้ติดสายดินไว้ด้วย กระแสไฟทั้งหมดก็จะไหลเข้าสู่ตัวเรา ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ถ้าที่บ้านมีการติดตั้งสายดินไว้ กระแสไฟเหล่านั้นก็จะไหลผ่านเข้าไปที่สายดินแทน อันตรายต่างๆ ที่เกิดจากไฟชอร์ตหรือไฟรั่วก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า สายดินทำหน้าที่เหมือนท่อน้ำล้นของอ่างล้างจานในครัวบ้านเรา ที่เมื่อเปิดน้ำจนถึงท่อน้ำล้นแล้ว น้ำก็จะไหลออกมาตามท่อนั้น น้ำจึงไม่ล้นอ่าง สายดินนี้ตรงส่วนปลายจะถูกฝังไว้ในดินจริงๆ ด้วยการรวมสายดินจากทุกจุดต่างๆ ในบ้านมารวมตัวกันในตู้ควบคุมไฟฟ้า และต่อสายอีกเส้นจากตู้นี้ลงสู่พื้นดิน ส่วนที่ถูกฝังไว้ในดินจะเป็นแท่งทองแดงเปลือย ไม่มีฉนวนหุ้ม ยาวประมาณ 6 ฟุต ซึ่งภายในดินจะมีความชื้นอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าความต้านทานไฟฟ้าต่ำ กระแสไฟจึงไม่ไหลมาทำอันตรายเรา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น